Shiny Gold Star

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2561

โรคซึมเศร้า


Cr https://www.youtube.com/watch?v=H5sUpGv68LE

ภาวะซึมเศร้า (Depression) หรือที่รู้จักกันว่าโรคซึมเศร้า เป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ที่ผู้ป่วยอาจรู้สึกเศร้า สิ้นหวัง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือรู้สึกว่าตนด้อยค่า แม้ความรู้สึกและอารมณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้กับทุกคนเป็นครั้งคราว แต่อาการของภาวะซึมเศร้านั้นมีความรุนแรงและยาวนานกว่ามากจนถึงขั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในด้านต่าง ๆ ของผู้ป่วย



โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่โดยมากมักเริ่มตั้งแต่ช่วงอายุ 20-30 ปี โรคความผิดปกติทางอารมณ์ส่วนใหญ่จะเริ่มพัฒนามาจากช่วงวัยรุ่นที่มีความเครียดและความวิตกกังวลสูง ดังนั้น ยิ่งในช่วงวัยรุ่นประสบกับความกังวลมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าในวัยผู้ใหญ่มากขึ้นเท่านั้น

จากสถิติทั่วโลกพบว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าประมาณ 350 ล้านคน มีความชุกราว 2-10 เปอร์เซ็นต์ และเป็นในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ส่วนในไทยมีจำนวนผู้ป่วยซึมเศร้าเพศหญิงเป็นอันดับที่ 3 และเพศชายเป็นอันดับที่ 8 ทั้งนี้ในปี 2557 กรมสุขภาพจิตของไทยได้คัดกรองกลุ่มเสี่ยงจำนวน 12 ล้านคน ในจำนวนนี้มีแนวโน้มป่วยโรคซึมเศร้า 6 ล้านคน ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคซึมเศร้า 5 แสนคน มีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย 6 แสนคน และคาดว่าคนไทยน่าจะมีภาวะซึมเศร้าถึงประมาณ 1.2 ล้านคน

โรคซึมเศร้าสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ โรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง และโรคซึมเศร้าเรื้อรัง ในที่นี้จะกล่าวถึงชนิดเรื้อรังเพียงโดยสังเขปด้านล่าง ส่วนบทความทั้งหมดจะเน้นไปที่โรคซึมเศร้าชนิดรุนแรงเท่านั้น

โรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง (Major Depression) เป็นอาการซึมเศร้าอย่างที่ส่งผลกระทบถึงชีวิตการทำงานหรือการเรียน รวมไปถึงการนอนหลับและการกินอยู่ได้อย่างเป็นปกติสุขอย่างรุนแรง

โรคซึมเศร้าเรื้อรัง (Persistent Depressive Disorder) แม้จะมีอาการและความรุนแรงของอาการน้อยกว่า แต่ภาวะซึมเศร้าชนิดนี้จะคงอยู่กับผู้ป่วยยาวนานกว่ามาก เป็นเวลาอย่างน้อยตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ซึ่งผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังก็อาจมีบางช่วงเวลาที่ต้องเผชิญภาวะซึมเศร้าชนิดรุนแรงร่วมด้วย
CR https://goo.gl/vVcKMw

อาการของโรคซึมเศร้า


ภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของโรค เพศ หรืออายุ โดยอาจมีอารมณ์เศร้า หดหู่ วิตกกังวล มีความรู้สึกว่าตนไร้ค่า โดดเดี่ยว สิ้นหวัง หงุดหงิดง่าย ซึ่งอารมณ์เหล่านี้จะมีความรุนแรงและคงอยู่ยาวนานกว่าปกติ ทั้งยังสามารถส่งผลกระทบทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนล้าตลอดเวลา เจ็บปวดตามร่างกาย นอนหลับยากหรือหลับมากเกินไป หรือมีพฤติกรรมแยกตัวจากสังคม ไม่มีสมาธิ ทำงานไม่ได้ หมดความสนใจในเรื่องที่เคยชอบ ไปจนถึงการคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองได้

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีที่อยู่ในสมองที่มีชื่อว่า เซโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) เมื่อสารเคมีดังกล่าวมีปริมาณน้อยลงจากเดิมก็ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและทางความคิด ซึ่งโดยรวมจะสังเกตเห็นได้ว่าผู้ป่วยจะมีความรู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่าย เหงา ไม่มีชีวิตชีวา ไม่สนุกสนานกับชีวิตประจำวัน ระสับกระส่าย อยากอยู่คนเดีย นอนไม่หลับ มักสะดุ้งตื่นในกลางดึก ฝันร้ายบ่อย เหล่านี้ยังเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำงานที่ลดลง

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการซึมเศร้านั้นมาจากหลากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นในด้านของกรรมพันธุ์ ด้านพัฒนาการของจิตใจ รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องเผชิญ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยประสบกับความเครียดที่แสนหนัก เจอมรสุมชีวิตที่ไม่ทันได้ตั้งตัว เกิดอาการเจ็บป่วยเรื้อรังจนทำให้หมดกำลังใจ ตกงาน มีปัญหาเรื่องการเงินที่หาทางออกไม่ได้ มีปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด รวมทั้งพบเจอกับความสูญเสียในชีวิตที่ทำให้เสียใจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียพ่อแม่ในขณะที่ยังอยู่ในช่วงของวัยเด็ก สูญเสียคนรัก สูญเสียครอบครัว และยังรวมถึงปัจจัยทางชีวภาพ เช่น เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในสมองบางชนิด ก็สามารถส่งผลทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน รวมถึงการใช้สารเสพติดที่อาจทำให้สารเคมีในสมองผิดปกติ

โดยสรุปแล้วปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดอาการซึมเศร้าได้เช่น
ภาวะเจ็บป่วยที่สามารถทำให้เกิดการเสียชีวิต (เช่น โรคมะเร็งหรืออาการปวดเรื้อรัง)
ภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม
ชีวิตที่เครียด (เช่นปัญหาการหย่าร้างหรือขัดสนเงินทอง)
พันธุกรรม (มีความผิดปกติของอารมณ์และการฆ่าตัวตายของคนในครอบครัว)
ภาวะบาดเจ็บหรือการถูกล่วงละเมิดในวัยเด็กซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระยะยาวจากการสั่งการของสมองเพื่อจัดการกับความกลัวและความเครียด
โครงสร้างสมองและการใช้สารเสพติด
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเช่นฮอร์โมนจากภาวะตั้งครรภ์หรือภาวะต่อมไทรอยด์ผิดปกติ
ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้า(Depression) มากกว่าผู้ชายถึง 70 เปอร์เซ็นต์
คนที่มีอายุระหว่าง 18-25 ปีมีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้า มากกว่าคนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 60

ชนิดของโรคซึมเศร้า


โรคซึมเศร้าแบ่งออกเป็น 3 ชนิดด้วยกัน ซึ่งแต่ละชนิดมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปดังนี้
1. Major Depression (โรคซึมเศร้าแบบรุนแรง)

โรคซึมเศร้าชนิดนี้เกิดขึ้นเมื่อภาวะซึมเศร้ารบกวนความสุขในชีวิต การทำงาน การเรียน การนอนหลับ นิสัยการกิน และอารมณ์สุนทรีย์ ติดต่อกันอย่างน้อยสองสัปดาห์ บางคนอาจพบแค่เพียงหนึ่งอาการแสดงของภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาการของโรคซึมเศร้าชนิดนี้จะเกิดเป็นครั้งๆ แล้วหายไป แต่ทั้งนี้ก็สามารถเกิดได้บ่อยครั้ง
2. Dysthymia หรือ Persistent Depressive Disorder (โรคซึมเศร้าเรื้อรัง)

เป็นโรคซึมเศร้าชนิดที่อยู่ในภาวะที่รุนแรง และสามารถเป็นแบบเรื้อรัง จะมีอาการแสดงของอารมณ์ไม่รุนแรงนัก แต่จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยสองปี ในบางช่วงเวลาของภาวะซึมเศร้าประเภทนี้อาจมีภาวะ major depression ร่วมด้วย ซึ่งจะรบกวนการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งนี้มันสามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดการสูญเสียความสามารถในการทำงานและความรู้สึกที่ดีได้
3. Bipolar หรือ Manic-depressive Illness (โรคซึมเศร้าอารมณ์ตก)

ผู้มีภาวะซึมเศร้าบางคนอาจมีความผิดปกติแบบอารมณ์สองขั้วร่วมด้วย (bipolar disorder) เป็นโรคซึมเศร้าชนิดที่ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ซึ่งเป็นลักษณะที่มีอารมณ์แปรปรวนรุนแรงสลับไปมาระหว่างความคิดฟุ้งซ่านขาดสติ (Mania) และภาวะซึมเศร้า (Depression)

สำหรับบางคนอาจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยส่วนมากจะค่อยเป็นค่อยไป เมื่อซึมเศร้าก็จะมีอาการมากบ้างน้อยบ้าง แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นช่วงอารมณ์สนุกคึกคักเกินเหตุ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการพูดมากกว่าที่เคยเป็น มีความกระฉับกระเฉงมากเกินกว่าเหตุ มีพลังงานในร่างกายที่เหลือเฟือ ในช่วงอารมณ์สนุกคึกคักเกินเหตุนั้น จะมีผลกระทบต่อความคิดและการตัดสินใจของผู้ป่วย รวมทั้งพฤติกรรมของผู้ป่วยอาจจะหลงผิด หากผู้ป่วยในภาวะนี้ไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นโรคจิต

ประเภทของภาวะซึมเศร้าอื่นๆ ที่ได้การยอมรับทางการแพทย์ มีดังนี้

1. Postpartum Depression (โรคซึมเศร้าหลังคลอดบุตร)

มารดาหลังภาวะคลอดบุตรมักมีอาการซึมเศร้าที่รุนแรงและใช้เวลากลับปกตินาน ภาวะซึมเศร้าที่คุณแม่มือใหม่มักเจอหลังคลอดจะเรียกว่าแบบ "baby blues"

2. Seasonal Affective Disorder หรือ SAD (โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล)

เป็นภาวะซึมเศร้าในช่วงฤดูหนาว (และบางครั้งก็เกิดภาวะใบไม้ร่วง) มักเกี่ยวข้องกับภูมิอากาศที่มีแสงแดดน้อย


3. Premenstrual Dysphoric Disorder (โรคซึมเศร้าก่อนมีรอบเดือน)


ซึ่งเป็นอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อนและหลังช่วงมีประจำเดือนของผู้หญิง


4. Psychotic Depression (โรคซึมเศร้าโรคจิต)

เป็นภาวะซึมเศร้ารุนแรงที่เกิดในผู้ป่วยโรคจิต(Depression) มักเกิดพร้อมอาการทางจิตเช่น เช่นเห็นภาพลวงตาและภาพหลอน

การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า


แพทย์มักวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยการพูดคุยสอบถามถึงอาการ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของผู้ป่วยว่าเข้าข่ายภาวะซึมเศร้าหรือไม่ มีความรุนแรงระดับใด โดยใช้ชุดคำถามมาตรฐานในการตรวจสอบ จากนั้นหากเข้าข่ายจะตรวจร่างกาย เช่น ตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าภาวะซึมเศร้าที่สงสัยไม่ได้เป็นเกิดจากโรคอื่น ๆ เนื่องจากการรักษาที่โรคต้นเหตุจะเป็นการรักษาภาวะซึมเศร้าโดยตรง แล้วพิจารณาถึงวิธีการรักษาที่เหมาะสมในขั้นต่อไป

การรักษาโรคซึมเศร้า

1. การรักษาโดยการใช้ยา

สำหรับการรักษาโรคซึมเศร้าด้วยการใช้ยานั้น จะมียาหลากหลายชนิดด้วยกันที่เลือกใช้รักษา ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดที่ทำให้ง่วงและไม่ทำให้ง่วง สำหรับยาที่ใช้ในการแก้โรคซึมเศร้าจะไม่ทำให้เกิดการเสพติดแต่อย่างใด นั่นแสดงว่าผู้ป่วยสามารถหยุดรับประทานยาได้เมื่ออาการเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ในส่วนของยาแก้โรคซึมเศร้านั้นไม่ได้ออกฤทธิ์เพียงเพื่อช่วยลดความกังวลเท่านั้น แต่มันจะทำให้อารมณ์ของคุณหายจากอาการเศร้าได้จริงๆ ทั้งนี้ยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์ค่อนข้างช้า ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องทานยาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ จึงจะสามารถเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงหรือมีอารมณ์ที่แจ่มใสขึ้น และสำหรับการใช้ยานั้นมักจะต้องใช้เวลานานถึง 4-6 สัปดาห์ยาจึงจะออกฤทธิ์และแสดงผลลัพธ์ได้อย่างเต็มที่

ยารักษาภาวะซึมเศร้า (Depression Medications)
ตามอ้างอิงของ The National Alliance on Mental Illness (NAMI)

1. SSRIs (Selective serotonin reuptake)
➤เป็นยาลดอาการซึมเศร้า(antidepressants)ที่แพทย์นิยมใช้มากที่สุด ยาเหล่านี้ช่วยบรรเทาภาวะซึมเศร้า(Depression)โดยทำให้มีสารสื่อประสาท serotonin ในสมองมากขึ้น
➤SSRIs ที่ใช้กันมากที่สุด คือ
Prozac (fluoxetine)
Zoloft (sertraline)
Lexapro (escitalopram)
Paxil (paroxetine)
Celexa (citalopram)
➤ผลข้างเคียงที่พบโดยทั่วไปของ SSRIs ได้แก่
ความผิดปกติทางเพศ
ปัญหาทางเดินอาหารเช่นคลื่นไส้ท้องผูกและท้องร่วง
ปากแห้ง
นอนไม่หลับ
ปวดหัว
ความวิตกกังวลหรือความกระวนกระวายใจ
น้ำหนักมากขึ้น
เหงื่อออก

2. Serotonin and Norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs)
➤เป็นกลุ่มยาลดอาการซึมเศร้า(antidepressants)ที่นิยมใช้รองลงมา serotonin and norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs) จะยับยั้งการดูดซึมกลับของ serotonin และ norepinephrine ทำให้มีปริมาณสารสองตัวนี้มากขึ้นในสมอง
➤ตัวอย่างยากลุ่มSNRIs เช่น:
Effexor (venlafaxine)
Pristiq (desvenlafaxine)
Cymbalta (duloxetine)
Fetzima (levomilnacipran)
Savella (milnacipran) เป็น SNRI แต่ใช้เพื่อรักษา อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง(fibromyalgia) แทนภาวะซึมเศร้า(Depression)
ยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงคล้ายคลึงกับยา SSRIs รวมทั้งความเมื่อยล้าและอาการปัสสาวะขัด

3. Norepinephrine-dopamine reuptake inhibitor (NDRI)
➤ยานี้จะยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาท(neurotransmitter)สองตัวคือdopamine และ norepinephrine ตัวอย่างของยากลุ่มนี้ คือ Wellbutrin (bupropion) Wellbutrin มีผลข้างเคียงที่คล้ายคลึงกับยา SSRIs และ SNRIs แต่จะทำให้เกิดความผิดปกติทางเพศน้อยกว่า แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอาการชัก

4. Tricyclics
➤Tricyclic antidepressants (tricyclics หรือ TCAs) เป็นยาที่ใช้กันมานานทำงานโดยการยับยั้งการดูดซึมกลับของ serotonin และ norepinephrine โดยกลไกที่แตกต่างจาก SNRIs ยากลุ่มนี้มีการใช้น้อยลงเพราะก่อให้เกิดผลข้างเคียงมากและร้ายแรง จะใช้ยากลุ่มนี้เมื่อใช้ยาตัวอื่นแล้วไม่ได้ผล
➤ตัวอย่างของสาร tricyclics ได้แก่ :
Elavil (amitriptyline)
Norpramin (desipramine)
Sinequan (doxepin)
Tofranil (imipramine)
Pamelor (nortriptyline)
Avantyl (nortriptyline)
Vivactil (protriptyline)
➤ผลข้างเคียงที่ร้ายแรงบางอย่างของสาร tricyclics ได้แก่ :
มองเห็นภาพซ้อน
หัวใจเต้นผิดปกติ
อาการสั่น
ความคิดสับสนในผู้สูงอายุ
อาการชัก

5. MAOIs
➤monoamine oxidase inhibitors (MAOIs) สามารถยับยั้งเอนไซม์ monoamine oxidase ซึ่งหยุดการทำงานของสารสื่อประสาทต่างๆรวมถึง serotonin และ norepinephrine ในสมอง
➤ตัวอย่างของ MAOIs ได้แก่ :
Nardil (phenelzine)
Marplan (isocarboxazid)
Parnate (tranylcypromine sulfate)
Emsam (selegiline) เป็นยาที่พัฒนาล่าสุด ชนิดแผ่นแปะ ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายา MAOI อื่น ๆ
เช่นเดียวกับยากลุ่ม tricyclics ยากลุ่มMAOIs มีการใช้น้อยลงเนื่องจากผลข้างเคียงและปฏิกิริยากับสารอื่นค่อนข้างมาก ตัวอย่างเช่นถ้าคุณกินอาหารที่มีสารประกอบ tyramineจำนวนมาก(พบในชีส ผักดอง และไวน์แดง) พร้อมกับยากลุ่ม MAOI จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่นอาจเกิดความดันโลหิตสูงรุนแรงที่อาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองตีบ(stroke)
➤อาจพบความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงหากคุณใช้ยากลุ่ม MAOI ร่วมกับยาเหล่านี้:
ยาคุมกำเนิด
ยาแก้ปวดบางชนิด
ยารักษาภูมิแพ้และหวัด
สมุนไพรบางชนิด
➤การใช้ MAOI ร่วมกับ SSRI อาจทำให้เกิดภาวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่น serotonin syndrome

***เพิ่มเติม : Serotonin syndrome เกิดจากการงานของระบบ serotonin ในระบบประสาทส่วนกลางทำงานมากผิดปกติ ซึ่งทำให้เกิดอาการผิดปกติทั้ง mental status, ระบบ neuromuscular, ระบบ autonomic ที่ทำงานผิดปกติไป***

6. ยาอื่น ๆ
ยาอื่น ๆ ที่ไม่สามารถจัดเข้ากลุ่มข้างต้นที่ใช้รักษาภาวะซึมเศร้า(Depression) ได้แก่
Trazadone
Nefazodone
Remeron (mirtazapine)
Abilify (aripiprazole)
Seroquel (quetiapine
Viibryd (vilazodone)
Brintellix (vortioxetine)

2. การรักษาโดยการไม่ใช้ยา

สำหรับการรักษาโรคซึมเศร้าโดยไม่ใช้ยานั้นทำได้ด้วยการเปลี่ยนความคิดเพื่อพิชิตความเศร้า และรวมถึงเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น นั่นก็คือ ผู้ป่วยที่มีอารมณ์เศร้ามักจะมองโลกในแง่ร้าย ซึ่งก็เป็นวัฏจักรที่จะทำให้ภาวะซึมเศร้านั้นอยู่กับตัวผู้ป่วยนาน ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยเกิดอารมณ์เศร้าจึงควรบอกและค่อยๆ พูดกับผู้ป่วยให้หยุดเศร้าสักประเดี๋ยว แล้วให้ย้อนกลับไปคิดว่าเมื่อสักครู่เกิดอะไรขึ้น เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นแน่นอนว่าจะมีความคิดอะไรบางอย่างแว็บเข้ามาในสมอง จากนั้นให้ลองพิจารณาดูว่าความคิดนั้นถูกต้องแค่ไหน หากคิดว่าไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ อารมณ์จะดีขึ้นทันที อย่างน้อยก็จะทำให้ผู้ป่วยมองโลกในแง่ดีจนกว่าจะเผลอไปคิดในแง่ร้ายอีกครั้ง

1. จิตบำบัดสำหรับโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้านั้นแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่นั้นจะเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายๆปัจจัยมารวมกัน การใช้จิตบำบัดหรือการบำบัดด้วยการพูดคุยถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับปัจจัยด้านจิตใจ พฤติกรรม ปฏิสัมพันธ์กับผู้คน และปัจจัยภาวะแวดล้อมซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้า และการใช้จิตบำบัดนี้ยังช่วยแยกแยะปัจจัยต่างๆเหล่านี้ด้วย โดยโรคซึมเศร้าต่างรูปแบบกันก็มีเป้าหมายการรักษาที่ต่างกันและมีวิธีช่วยเหลือผู้ป่วยต่างกัน เช่น
หาปัญหาชีวิตต่างๆที่ส่งผลต่อโรคซึมเศร้าหรือทำให้โรคซึมเศร้าแย่ลง
หาความคิดหรือความเชื่อในทางลบหรือผิดจากความเป็นจริงที่ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกที่ซึมเศร้า เช่น ความรู้สึกสิ้นหวัง และความรู้สึกที่หมดหนทาง
สร้างความสามารถที่จะรับมือกับความเครียดและแก้ปัญหาได้ดีขึ้น
หาความสัมพันธ์และประสบการณ์ที่จะพัฒนาปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน
สร้างเป้าหมายชีวิตที่เป็นไปได้และวางแผนการดูแลตนเอง
สร้างความพึงพอใจและการควบคุมวิถีชีวิต
เข้าใจเหตุการณ์ที่เจ็บปวดในอดีต

จิตบำบัดสองรูปแบบที่ใช้มากที่สุดคือพฤติกรรมและปัญญาบำบัด(cognitive behavioral therapy)หรือซีบีที(CBT) และปฏิสัมพันธ์บำบัด(interpersonal therapy) โดยพฤติกรรมปัญญาบำบัดนั้นพยายามที่จะช่วยให้ผู้ที่ซึมเศร้าค้นพบความคิดและความเชื่อในทางลบหรือไม่ดีต่อสุขภาพและเปลี่ยนความคิดและความเชื่อเหล่านั้นเป็นในทางบวกซึ่งมีประสิทธิภาพในการบำบัดความเจ็บป่วยทางจิตใจได้หลายประเภท ผู้ที่เข้าร่วมจิตบำบัดมักจะมีการบ้านให้กลับไปทำโดยให้บันทึกความคิดด้านลบที่เกิดขึ้นกับสิ่งต่างๆ

ส่วนปฏิสัมพันธ์บำบัดจะเน้นไปที่การค้นหาความสัมพันธ์ของบุคคล แยกแยะปัญหาของความสัมพันธ์นั้น และพัฒนาทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ค้นพบรูปแบบทางสังคมในเชิงลบของตนเอง เช่น การแยกตัวจากสังคมและความก้าวร้าว และช่วยพัฒนาวิธีในการโต้ตอบกับคนอื่นได้ดีขึ้น

สถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ(National Institute of Mental Health)ระบุว่าจิตบำบัดเพียงอย่างเดียวอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ารุนแรงเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่อาจไม่เพียงพอสำหรับผู้ที่ซึมเศร้ารุนแรงมาก

2. การบำบัดด้วยการช็อตไฟฟ้าสำหรับโรคซึมเศร้า

ถ้าจิตบำบัดและยาใช้ไม่ได้ผล จิตแพทย์อาจแนะนำให้ใช้การบำบัดด้วยการกระตุ้นสมอง การบำบัดด้วยการช็อตไฟฟ้า(electroconvulsive therapy)หรืออีซีที(ECT)มีใช้มานานมากแล้วโดยใช้ครั้งแรกในปี 1940 ซึ่งการบำบัดด้วยการช็อตไฟฟ้านั้นจะใช้กระแสไฟฟ้าปล่อยผ่านสมองขณะที่ดมยาสลบอยู่ การรักษานี้จะทำให้ชักช่วงสั้นๆซึ่งควบคุมได้โดยส่งผลต่อเซลล์ประสาทและสารเคมีในสมอง ตามข้อมูลจากเครือข่ายความเจ็บป่วยทางจิตใจแห่งชาติ(National Alliance on Mental Illness)คนส่วนใหญ่จะต้องรักษาสี่ถึงหกครั้งก่อนจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การช็อตไฟฟ้านี้จะมีผลข้างเคียงชั่วคราวได้แก่ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ สับสน และความจำเสื่อม

3. การกระตุ้มสมองด้วยแม่เหล็กสำหรับโรคซึมเศร้า


แทนที่จะใช้กระแสไฟฟ้า การกระตุ้นสมองด้วยแม่เหล็ก(transcranial magnetic stimulation)หรือทีเอ็มเอส(TMS)จะใช้สนามแม่เหล็กกระตุ้นเซลล์ประสาทและช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้า การรักษานี้ไม่ต้องใช้ยาดมสลบและเน้นไปที่บริเวณของสมองที่เกี่ยวกับการควบคุมอารมณ์ ผลข้างเคียงจากการกระตุ้นสมองด้วยแม่เหล็กนั้นได้แก่ กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุก ปวดหัวหรือเวียนหัว และชัก(ถ้าเคยชักมาก่อน)

4. การกระตุ้นเส้นประสาทวากัส (vagus nerve) สำหรับโรคซึมเศร้า

สำหรับโรคซึมเศร้าเรื้อรังหรือโรคซึมเศร้าที่ไม่ตอบสนองต่อการบำบัดด้วยการช็อตไฟฟ้าหรือการกระตุ้นสมองด้วยแม่เหล็กนั้น การกระตุ้นเส้นประสาทวากัส(vagus nerve stimulation)หรือวีเอ็นเอส(VNS)ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง การรักษาวิธีนี้จะใช้อุปกรณ์ฝังเข้าไปเพื่อกระตุ้นเส้นประสาทวากัสด้วยสัญญาณไฟฟ้าซึ่งทำหน้าที่ส่งกระแสประสาทไปส่วนของสมองที่ควบคุมอารมณ์และการนอนหลับตลอดทั้งวันซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่สร้างจังหวะให้กับสมอง ผลข้างเคียงเฉพาะที่ของการรักษาด้วยการกระตุ้นเส้นประสาทวากัสเช่นปัญหาเกี่ยวกับช่องปาก(กลารกลืน ความปวด และการไอ) ปวดคอ และปัญหาการหายใจระหว่างออกกำลังกาย

5. ธรรมชาติบำบัดสำหรับโรคซึมเศร้า

มีการใช้ธรรมชาติบำบัดหลายวิธีเช่นเดียวกับการรักษาทางเลือกหรือการรักษาเสริมซึ่งอาจช่วยรักษาโรคซึมเศร้าเมื่อใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่น(รวมถึงการใช้ยา) การรักษาเหล่านี้ได้แก่
ออกกำลังกายซึ่งช่วยหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นอารมณ์
โยคะ การทำสมาธิ และการฝึกจิตอื่นๆช่วยลดความเครียดและบรรเทาอารมณ์เชิงลบได้
การยวดช่วยลดฮอร์โมนความเครียดและเพิ่มสารสื่อประสาทที่ช่วยให้อารมณ์คงที่
การฝังเข็มอาจส่งผลดีต่อสารสื่อประสาท

อาหารเสริมบางชนิด เช่น โฟเลต (folate)เอสเอ็มอี (SAMe) หรือเอส-อะดีโนซิล-เอล-เมทไธโอนีน (S-Adenosyl-L-Methionine) และหญ้าเซนต์จอห์นเวิร์ธ (St. John's wort) อาจช่วยรักษาโรคซึมเศร้า แต่ยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ผลในการรักษา

การป้องกันโรคซึมเศร้า

ภาวะซึมเศร้าไม่มีวิธีการป้องกันที่แน่นอน เนื่องจากสาเหตุอาจเกิดจากโรคบางประการ เช่น ความผิดปกติในสมอง อาการเจ็บป่วย หรือการใช้ยาที่เกิดภาวะซึมเศร้าแทรกซ้อนได้ ถือว่าเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม แต่การสร้างพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดีด้วยการเลือกรับประทานอาหารและออกกำลังกาย การรักษาสภาวะอารมณ์ให้แจ่มใสด้วยการทำกิจกรรมเพื่อความสนุกสนานและผ่อนคลาย นับเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะซึมเศร้าได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น